Tuesday, March 15, 2011

ร้านผ้าที่มีตอนนี้หน้าตาเป็นอย่างไร ?

ร้านผ้าที่มีตอนนี้หน้าตาเป็นอย่างไร ?


ร้านผ้าทั้งหมดในซอยวัดสนจะมีลักษณะที่แตกต่างกัน โดยพยายามที่จะไม่ทำอะไรซ้ำกัน ถ้าหากว่าทำซ้ำก็จะอยู่ไกลกันมาก เช่น หัวซอยต้นซอย (แค่หัวซอยกับต้นซอยนี่มันก็ไกลกันแล้วน่ะครับ เพราะว่าของหรือสินค้าที่ขายเป็นผ้ามันไม่ได้หิ้วถือกันได้น่ะครับ ถ้าหากว่าซื้อร้านไหนแล้วก็ไม่ได้ถือเดินดูของร้านอื่นแล้วน่ะครับ ) โดยร้านแต่ละร้านก็พยายามจะดึงจุดเด่นของร้านตัวเองออกมาโดย เน้นที่สินค้าที่แตกต่างจากร้านค้าผ้าอื่นๆ นั่นเอง



คุณอาจจะสงสัยว่าแต่ละร้านมันก็ขายผ้ายืดเหมือนกัน แต่ทำไมผมถึงบอกว่า ร้านมันขายของไม่เหมือนกันล่ะครับ ? ถ้าหากว่าคุณสงสัยประเด็นนี้แสดงว่าคุณยังไม่ได้เข้ามาในวงการสักเท่าไหร่ครับ ร้านผ้าที่วัดสน ลูกค้าส่วนใหญ่จะมีความคาดหวังว่า ถ้าหากว่าอยากซื้อสินค้าผ้า ที่ซอยวัดสนจะซื้อเป็นสินค้าที่มี stock คือ ถ้าหากว่าเจอแล้วก็จะเอา ไม่มีการสั่งทำ หรือสั่งผลิตเพิ่มแต่อย่างใด โดยการสั่งผลิตเพิ่มจะขึ้นอยู่กับแต่ละร้านจะทำหน้าที่ในการวิเคราะห์ความต้องการของสินค้าผ้ายืด ของร้านตัวเองเป็นสำคัญ เค้าจะดูว่าสีไหนขายดี สีไหนเหลือปริมาณมากน้อยแค่ไหน แล้วถ้าหากว่าผลิตออกมาแล้วจะมีคนเอาไปหรือไม่ แน่นอนน่ะครับ วิธีคิดแบบนี้เป็นวิธีการคิดแบบพื้นฐานที่สุดสำหรับการขายสินค้าประเภท made to stock คือ ต้องประเมินว่าสินค้าตัวไหนขายดี และ จะดองสินค้าเอาไว้ที่ร้านมากน้อยแค่ไหน (เพราะว่านั่นมันก็เงินทั้งนั้นน่ะครับ)



ผ้าแต่ละก้อนราคาไม่ได้ถูกครับ ถ้าหากว่าคุณมองเป็นเงินแล้ว ก้อนผ้าก้อนนึงก็หลายพันบาทอยู่ครับ ถ้าหากว่าคุณเป็นเจ้าของร้านคุณก็ไม่อยากจะเอามากองไว้ที่หน้าร้านเยอะๆสักเท่าไหร่ ถ้าหากว่าเป็นไปได้สินค้าเป็นของคนอื่นได้เลยก็น่าจะเป็นเรื่องดีขึ้นไปใหญ่ แน่นอนว่า การวางของหน้าร้านเยอะๆแบบนี้เป็นเงินทั้งนั้นครับ แปลว่า ร้านต่างๆเหล่านี้จะต้องมี เงินทุนหนา พอสมควรที่จะมาเปิดร้านได้ ถ้าหากว่าไม่ได้มีเงินถุงถังแล้ว ก็จะเป็นผู้ผลิตอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้นน่ะครับ ถ้าหากว่าเป็นแค่คนรับมาขายนี่จะทำให้สินค้ามีปริมาณที่ไม่มาก แล้วก็ความหลากหลายของสินค้ามีไม่มากเช่นเดียวกัน ถ้าหากว่าคุณมาคุณจะพอแยกแยะออกว่าร้านใด เป็นร้านที่มีโรงงานเป็นของตัวเองอย่างเบื้องหลังครับ



โรงงานเบื้องหลังส่วนมากแล้วจะเป็นโรงทอผ้ายืดครับ เพราะ โรงงานเหล่านั้นถ้าหากว่าเป็นไม่ทำสินค้าที่ทำตลาดได้ด้วยตัวเองแล้ว การมี channel หรือ selling point หรือที่เรียกว่า ช่องทางการขายถือได้ว่าเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับโรงงานครับ เพราะ วิธีคิดของโรงงานคือ “จะทำอย่างไรเพื่อให้เครื่องจักรเดินงานสร้างมูลค่าเพิ่ม หรือแปลงสภาพจากวัตถุดิบเป็นสินค้า ให้ได้มากที่สุด” เพราะทุกคนมีค่าแรง ต่อเวลา หรือแม้ว่าหลายโรงงานจะใช้ระบบจูงใจเป็นแบบต่อผลผลิตแล้วก็ตาม ก็ยังมี costing ส่วนใหญ่ (เสมียนบัญชี ค่าไฟฟ้าค่าน้ำ ค่าเช่าและอื่นๆ) มันจะเป็นค่าใช้จ่ายต่อเวลาทั้งหมดครับ ทำให้ยังไง คนโรงงานก็ต้องคิดแบบนี้ครับ วิธีการก็คือ ถ้าหากว่า โรงงานนั้นๆมีช่องทางขายเป็นของตัวเอง ก็จะประเมินได้ชัดเจนว่า สีหรือขายดี หรือผ้าแบบไหนขายดีครับ และนี่ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งว่า ทำไม โรงทอผ้าอยากจะมีหน้าร้าน หรือ ทำไมหน้าร้านวัดสนที่ขายผ้ากันอยู่นี้ มีโรงทอเป็น backup กันหมด ถึงจะมีศักยภาพในการแข่งกันได้

No comments:

Post a Comment